วิธีการจองบัตรคอนเสิร์ตและอีเวนต์ในญี่ปุ่น


     เอนทรี่นี้จริงๆแล้วเราเคยเขียนไว้ในเพจ นิฮนโนะ อุต๊ะะะะ เมื่อประมาณปีที่แล้วค่ะ (วิธีการจองบัตรคอนเสิร์ตในญี่ปุ่น ภาคแรก / วิธีการจองบัตรคอนเสิร์ตในญี่ปุ่น ภาคหลัง) พอมาปีนี้ก็เลยขอยกเอาที่เคยเขียนไว้มาเก็บไว้ในบล็อกส่วนตัวของตัวเอง + รีไรท์ รวมข้อมูลทั้งสองภาคเข้าด้วยกัน และเพิ่มเติมข้อมูลในบางส่วนค่ะ พูดง่ายๆคือเขียนแก้ให้ครอบคลุมและละเอียดมากขึ้นนั่นเอง


     คุณเคยประสบปัญหา อยากไปดูคอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่นแต่ไม่รู้ว่าเค้าจองบัตรกันอย่างไรบ้างไหม?
     คุณเคยประสบปัญหา จะหาบัตรคอนเสิร์ตศิลปินที่ชอบได้อย่างไรกันหรือเปล่า?

    เพราะเราเชื่อว่าหลายๆคนมีฝันที่อยากจะไปชมการแสดงของศิลปินในดวงใจของตัวเองแบบสดๆด้วยตาของตัวเองสักครั้ง ดังนั้น เราเลยจะมาแนะนำระบบการจองบัตรคอนเสิร์ตและการแสดงต่างๆในญี่ปุ่นรวมถึงละครเวทีและอีเวนต์ต่างๆแบบคร่าวๆกันในเอนทรี่นี้ค่ะ เนื่องจากโดยส่วนตัวแล้วเคยมีคนมาถามเรื่องการจองบัตรคอนเสิร์ต ละครเวทีในญี่ปุ่นอยู่บ้าง บางทีก็เห็นกระทู้ถามเกี่ยวกับเรื่องการจองบัตรเด้งขึ้นมาบ่อยๆ เลยอยากแชร์ประสบการณ์การจองบัตรที่เคยผ่านมาไว้เป็นแนวทางสำหรับหลายๆคนที่สนใจค่ะ

     ขอออกตัวไว้ก่อนว่า เนื้อหาทั้งหมดนี้อาจไม่ได้ครอบคลุมทุกระบบ ทุกวงในญี่ปุ่นนะคะ ทั้งหมดเขียนขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยจองบัตรทั้งแบบจองเอง ฝากคนอื่นจอง หรือระบบสุ่มเข้าร่วมอีเวนต์ต่างๆที่เคยทำมาทั้งหมดค่ะ เรียกว่าเป็นการรีวิวระบบโดยทั่วไปแบบคร่าวๆ เพราะแต่ละวงจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น มี goods พิเศษแถมให้ มีการระบุที่นั่ง หรือมีเงื่อนไขพิเศษต่างๆตามการแสดงแต่ละรอบ ถ้าใครมีข้อมูลเพิ่มเติมอยากแนะนำหรือสอบถามก็สามารถคอมเม้นต์เอาไว้ได้นะคะ

 
ระบบการจองบัตรในญี่ปุ่น (แบบคร่าวๆ)

     บัตรคอนเสิร์ตในญี่ปุ่นนั้นจะไม่เหมือนของไทยตรงที่เราไม่สามารถเลือกที่นั่งเองได้ค่ะ ทุกที่นั่งราคาเดียวและสุ่มให้หมด จะได้ที่ดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับดวงล้วนๆ แบบราคาเท่ากันแต่คนนึงได้ใกล้ขนาดเหงื่อศิลปินแทบจะกระเด็นใส่ อีกคนจ่ายเท่ากันแต่นั่งโบกแท่งไฟอย่างเหงาหงอยอยู่บนดอยก็มีค่ะ

สำหรับตั๋ว หลักๆจะมีให้เลือก 2 แบบคือ

1. 一般席(Ippan-seki) ตั๋วแบบทั่วไป สามารถกระโดดโลดเต้น โบกพัดควงแท่งไฟ ยิงมิกซ์โวตะเก สะบัดผ้าเชียร์และกรี๊ดกร๊าดได้ตามสะดวกค่ะ เหมาะสำหรับคนที่อยากเต็มที่กับชีวิต โดยตั๋วแบบนี้จะขึ้นอยู่กับสถานที่จัดการแสดงค่ะ บางที่ที่เป็นสนามกีฬา หอประชุม โรงละครต่างๆจะมีเก้าอี้นั่งให้ แต่หลายที่เช่น พวกคลับเฮ้าส์หรือฮอลล์บางฮอลล์จะเป็นแบบ all standing หรือยืนตลอดงานค่ะ

     ถ้าเป็นแบบมีเก้าอี้นั่ง บนตั๋วจะระบุแถวและหมายเลขที่นั่งให้เรียบร้อย พอเปิดให้เข้าฮอลล์แล้วเราจะเดินเข้าไปเมื่อไหร่ก็ได้ และเราสามารถวางของบนเก้าอี้และลุกขึ้นยืนเชียร์ตอนเปิดการแสดงแล้วได้ตามใจค่ะ

     ถ้าเป็นแบบ all standing บนตั๋วจะไม่ระบุเลขที่นั่งแต่จะเขียนเป็น 整理番号(seiri bangou) แทน ซึ่งเวลาเข้าจะปล่อยเข้าตามลำดับหมายเลขที่ระบุไว้บนตั๋ว พอเข้าไปข้างในแล้วสามารถเลือกที่ยืนได้ตามชอบใจค่ะ จะเสียหน่อยก็สำหรับคนที่ของเยอะ ถ้าเยอะมากต้องเช่าล็อกเกอร์เพื่อเก็บของจะได้ไม่เกะกะ และถ้าเดินออกจากจุดที่จองไว้แต่แรกก็จะเสียที่ไปเลย เพราะอันนี้จะไม่ระบุที่ชัดเจนนั่นเอง

     นอกจากนี้ คอนเสิร์ตของศิลปินบางวงจะระบุว่าตอนเข้าต้องเสียค่าเครื่องดื่มพิเศษด้วย (โดยส่วนใหญ่จะเป็นคอนที่จัดในคลับเฮ้าส์) ซึ่งอันนี้บังคับจ่ายนะคะ ไม่อย่างนั้นแล้วถึงมีตั๋วก็เข้าไปดูไม่ได้ เรทโดยประมาณคือ 500 เยน พอจ่ายเงินแล้วก็จะได้คูปองมาหนึ่งใบซึ่งเราสามารถเอาไปแลกเครื่องดื่มที่เคาเตอร์ ซึ่งก็จะมีทั้งน้ำเปล่า ซอฟต์ดริงค์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ คือคอนเสิร์ตที่นี่สามารถเอาเครื่องดื่มเข้าไปข้างในได้ค่ะ


2. ファミリーシート(Family Seat) ตั๋วแบบแฟมิลี่ซีทโดยส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั่งห่างออกมา อาจจะเป็นชั้นสอง สิ่งที่เราทำได้คือนั่งเงียบเรียบร้อยชมการแสดง โบกแท่งไฟในระดับที่พองาม เหมาะสำหรับคนที่อยากชมบรรยากาศแบบไม่ต้องไปเบียดกับกลุ่มอิปปัง นั่งสวยๆชมการแสดงไปอย่างเดียว ซึ่งตั๋วแบบนี้ไม่ได้มีทุกวงนะคะ บางวงจะเป็นแบบอิปปังอย่างเดียวค่ะ

     ระบบการจองบัตรของญี่ปุ่นโดยทั่วไปแล้วจะให้สิทธิ์กับ "Official Fanclub" หรือเรียกง่ายๆว่าแฟนคลับเสียตังค์รวมถึงสมาชิก Mobile Site ที่เสียเงินค่าสมัครสมาชิกได้โอกาสในการจองตั๋วก่อนใครเพื่อน ซึ่งตรงนี้แล้วแต่ศิลปิน แล้วแต่ค่ายว่าให้สิทธิ์จองรวมกันหรือแยกรอบจองนะคะ



     ขั้นตอนคือ พอศิลปินประกาศทัวร์หรืออีเวนต์ปุ๊ป เช็ควัน เวลา สถานที่ที่จะไปเรียบร้อย แฟนคลับแบบ official จะเป็นพวกแรกที่ได้จองบัตร โดยใน Official Website จะมีระบุวัน ระยะเวลาในการจอง และเงื่อนไขต่างๆสำหรับยื่นเรื่องขอซื้อบัตรทางอินเตอร์เน็ตไว้

     สิ่งที่แฟนคลับต้องทำคือ เข้าไปกรอกรายละเอียด เลือกวัน เวลาของรอบการแสดงที่ต้องการ รวมถึงที่อยู่สำหรับจัดส่งตั๋ว (เฉพาะที่อยู่ในญี่ปุ่นเท่านั้นค่ะ) ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยสามารถกดได้สูงสุด 4 ใบต่อหนึ่งหมายเลขสมาชิก จากนั้นก็รอประกาศผลว่าจะ "ได้บัตร" หรือจะ "ปิ๋ว" ถ้ากดหลายใบ ได้ก็ได้หมด อดก็อดหมด ซึ่งในส่วนนี้มีเงินพร้อมจ่ายเป็นแสน แต่ถ้าไม่มีดวงก็อดไปค่า

     ถ้าใครตั้งมั่นแล้วว่ายังไงๆก็จะไปแน่นอน แนะนำให้จองโรงแรมไว้แล้วใช้ที่อยู่โรงแรมในการยื่นนะคะ พอได้บัตรแล้วอย่าลืมส่งเมลไปแจ้งทางโรงแรมว่าจะมีของส่งไปช่วงนี้ๆ ให้ทางโรงแรมเก็บไว้ให้เรา (แต่ต้องดูด้วยว่าโรงแรมที่เราจองมีบริการนี้ไหม บางที่ก็ไม่ยอมค่ะ) หรือถ้าไม่อย่างนั้นลองติดต่อเพื่อนที่มีที่อยู่ในญี่ปุ่นขอบัตรไปลง หรืออีกทางเลือกนึงคือใช้บริการของ Tenso ให้ส่งแบบด่วนจี๋มาให้เราที่ไทยค่ะ

     นอกจากได้สิทธิ์จองตั๋วก่อนแล้ว แฟนคลับก็ได้สิทธิ์ในการจ่ายเงินค่าตั๋วก่อนใครเพื่อนด้วยค่ะ พอหมดเขตการจองปุ๊ป สักพักทางเว็บจะส่งเมลประกาศผลมาให้ ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ตั๋วก็จะได้เมลนี้ทุกคนค่ะ ถ้าได้ตั๋วจะได้เมลที่บอกว่า 当選 (tousen) พร้อมกับรหัสจ่ายเงิน แต่ถ้าตกจะเขียนว่า 落選 (rakusen) ค่ะ

ตัวอย่างเมลแจ้งว่าไม่ได้บัตร (落選)
(คลิกดูรูปใหญ่ได้)
ตัวอย่างเมลแจ้งว่าได้บัตร (当選)
(คลิกดูรูปใหญ่ได้)

     สำหรับคนที่ได้ตั๋ว ให้เอาเมลฉบับนี้ไปที่ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นอย่างเซเว่น ลอว์สัน แฟมิลี่มาร์ท และจ่ายเงินที่นั่นค่ะ ถ้าใครไม่ได้อยู่ในญี่ปุ่นก็ต้องหาคนรู้จักฝากไปจ่ายเงินให้ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีระยะเวลาให้จ่ายเงินประมาณ 1 อาทิตย์ ถ้าเกินจากนี้ตั๋วที่ได้มาก็จะหลุดโดยอัตโนมัติ ต้องระวังตรงนี้ด้วย หรือบางเว็บอาจรับบัตรเครดิตก็จะหมดปัญหาตรงนี้ไปค่ะ (แต่ส่วนใหญ่เท่าที่เคยเจอมา ไม่รับบัตรเครดิตกันค่ะ บางเว็บบัตรต่างชาติก็ยื่นไม่ผ่าน orz)

     วิธีการจ่ายเงินที่ร้านสะดวกซื้อง่ายมาก แค่เอาเมลที่ได้รับมา จิ้มๆส่งให้พนักงานดู บอกว่าจ่ายตังค์ค่ะ พนักงานก็จะจัดการให้เราเลยค่ะ ไม่ต้องเป็นห่วงในจุดนี้ แล้วก็เตรียมเงินไปเผื่อนิดนึงด้วยเพราะจะมีค่าธรรมเนียมในการจ่ายเงินที่ร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งตรงนี้จะระบุไว้ในอีเมลตามตัวอย่างข้างต้นเลยค่ะ


     สำหรับหน้าตั๋วคอนเสิร์ตตัวจริงของแฟนคลับ ขึ้นชื่อว่าแฟนคลับก็ต้องมีอะไรพิเศษ โดยตั๋วจะเป็นลายพิเศษที่ไม่เหมือนกับซื้อที่ร้านสะดวกซื้อ และโดยส่วนมากจะส่งมาตามที่อยู่ที่เรากรอกไว้ก่อนเริ่มการแสดงประมาณ 1-2 อาทิตย์ค่ะ

ตั๋วคอนเสิร์ต ROOT FIVE TOUR 2015 "FIVE" ~Teinen Taishoku~

ตั๋วคอนเสิร์ต Morning Musume'16 Concert Tour Spring EMOTION IN MOTION

ตั๋วคอนเสิร์ต AAA ARENA TOUR 2016 LEAP OVER

     ด้านบนนี้เป็นตัวอย่างตั๋วแฟนคลับของเราเองนะคะ จะเห็นว่าที่หน้าตั๋วจะพิมพ์รูปของศิลปินเป็นพิเศษลงไปด้วย ที่หน้าตั๋วจะระบุรายละเอียดทั้งหมายเลขสมาชิก ชื่อ สถานที่ รอบการแสดง เวลา และที่นั่งที่เราได้ ซึ่งเราจะรู้ว่าตัวเองได้ที่นั่งตรงไหนก็ตอนที่ตั๋วส่งมานี่ล่ะค่ะ


ตั๋ว Niigaki Risa Live ~Popcorn to Nattou~

     ส่วนอันนี้เป็นตั๋วอีเวนต์ของ Hello! Project ค่ะ เป็นแบบเรียบๆไม่มีพิมพ์ลายพิเศษ แต่ชื่อและเลขสมาชิกชัดมาก (ขอปิดไว้เนอะ) บางอีเวนต์จะเปิดขายบัตรให้คนทั่วไป แต่หลายงานก็ซื้อตั๋วและเข้าได้เฉพาะแฟนคลับเท่านั้น มีการตรวจบัตรสมาชิกก่อนเข้าด้วยค่ะ


     ในส่วนของแฟนคลับ บางครั้งจะมี "ตั๋วพิเศษ" เช่น จองที่นั่งได้ มีสินค้าออริจินอลสำหรับแฟนคลับเท่านั้นเพิ่มมาด้วย ซึ่งแน่นอนว่าราคาก็จะสูงขึ้นตาม บางครั้งก็โดนมัดมือชกว่า เป็นแฟนคลับเสียตังค์แล้วก็ต้องไปให้สุดทาง บังคับซื้อตั๋วแบบพิเศษได้เท่านั้น ถ้าอยากได้ราคาปกติก็ต้องไปตบตีแย่งชิงกับรอบอื่นแทน แบบนี้ก็มีเหมือนกันค่ะ

     หลังจากแฟนคลับทำการจองและประกาศผลไปเรียบร้อย รอบต่อมาคือคนที่สมัครรับ Mail Magazine ของศิลปินไว้ / ติดตาม Official LINE, Official Blog ไว้ หรืออะไรอีกสารพัดตามแต่ทางค่ายจะนึกออก ซึ่งในส่วนนี้แต่ละวงจะมีไม่เหมือนกัน หรือบางวงก็ไม่มีด้วยซ้ำค่ะ

     พอถึงเวลาจองบัตร ทางค่ายก็จะส่งลิงค์มาทางเมลหรือข้อความ บอกว่าให้เข้าไปจองบัตรตามลิงค์นี้ภายในวันนี้ๆๆนะ บางวงก็อาจให้ตบตีแย่งซื้อแล้วไปจ่ายเงินได้เลย แต่หลายวงก็เป็นระบบสุ่มบัตรเหมือนแฟนคลับค่ะ และจะเปิดกี่รอบ กี่ชุดก็ว่ากันไป เอาตามที่ค่ายสบายใจค่ะ


     สุดท้าย คือการเปิดขายตั๋วรอบทั่วไป หลักๆแล้วเราจะต้องไปกดตู้ที่ร้านสะดวกซื้อเช่น 7-11 แฟมิลี่มาร์ท ลอว์สันในญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งสำหรับรอบนี้ถ้าเป็นศิลปินที่ฮอทๆ โอกาสจะตบตีแย่งชิงไม่ได้ก็มีสูง แต่บางวงก็อาจกดได้ชิวๆจนถึงวันแสดงเลยค่ะ หรือบางวง บางการแสดงอาจเปิดขายทางอินเตอร์เน็ต ที่เราต้องทำคือสมัครสมาชิกเว็บ (เช่น eplus+ , TicketPia เป็นต้น) ยื่นเรื่องทางอินเตอร์เน็ตแล้วเอาโค้ดที่ได้ไปจ่ายเงินค่ะ

     ถ้าเราได้บัตรแล้วแต่ไม่ไปจ่ายเงินภายในเวลาที่กำหนด ก็จะมีเมลส่งมาทวงว่า อย่าลืมจ่ายนะเธอ เป็นระยะๆ ถ้าพ้นจากช่วงนั้นไปแล้วยังไม่จ่าย บัตรที่อุตส่าห์ตบตีได้มาก็จะลอยหายไปตามระเบียบค่ะ ซึ่งตรงนี้ถ้าอยู่ญี่ปุ่นหรือมีคนรู้จักอยู่ญี่ปุ่น ชีวิตก็จะง่ายขึ้นมาหน่อย แต่ถ้าไม่มีก็อาจต้องหาใช้บริการคนที่รับกดตั๋วหรือจ่ายเงินแทนค่ะ

ตั๋ว koma'n Birthday Live 2016 ~24 sai O-tousan ga Kekkon shita Toshi da mon~ ออกที่เซเว่น
ตั๋วละครเวที "Akatsuki no YONA" ออกที่ LAWSON

     ตัวอย่างตั๋วที่ซื้อและออกที่ร้านสะดวกซื้อนะคะ จะระบุข้อมูลที่จำเป็นต่างๆในบัตร เราก็รู้เลขที่นั่งได้เลย ใบสีเขียวเป็นตั๋วที่ออกที่เซเว่น และใบสีชมพูเป็นตั๋วที่ออกที่ลอว์สันค่ะ (หางที่งอกออกมายาวๆหน่อยนั่นเป็นใบเสร็จรับเงินค่า ตั๋วจริงแค่ใบด้านบนใบเดียว)

     ในกรณีของแฟนคลับหรือพวกที่บอกว่าจะส่งตั๋วตามหลังนั้น เค้าจะส่งตั๋วมาตามที่อยู่ที่เรากรอกไปตอนแรกค่ะ หรือบางครั้งอาจออกเป็นสลิปให้แล้วให้เรามารับตั๋วที่ร้านสะดวกซื้ออีกครั้งภายในเวลาที่กำหนด แต่การซื้อแบบทั่วไปสามารถรอรับบัตรหลังจ่ายเงินได้เลยค่ะ

     และแบบสุดท้ายคือ ซื้อตั๋วหน้างาน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีทุกวง และคาดเดาไม่ได้ว่าจะเปิดขายตั๋วหน้างานหรือเปล่า โดยส่วนมากถ้าเปิดก็จะประกาศก่อนเริ่มการแสดงไม่เกิน 3 วัน หรือบางคนอาจบอกไว้ตั้งแต่แรกเลยก็ได้ และถ้าซื้อที่หน้างาน ราคาจะเพิ่มขึ้นกว่าปกติประมาณ 500 เยนค่ะ ส่วนตัวไม่เคยไปซื้อตั๋วหน้างานเลยไม่มีรายละเอียดอะไรมากนะคะ


วิธีการหาตั๋วคอนเสิร์ตในกรณีอื่นๆ

     อาจมีหลายคนท้วงว่า เฮ้ย วิธีการที่ว่ามาข้างต้นมันยุ่งยากนะ ไม่ได้เป็นเมมฯ ไม่อยากสมัครเมมฯ ไม่ได้อยู่ในญี่ปุ่น ไม่มีที่อยู่ญี่ปุ่น แต่อยากดูคอนเสิร์ตเฉยๆ อยากได้ที่ดีๆหน่อย พอมีวิธีอื่น มีช่องทางอื่นในการหาบัตรบ้างไหม? ตอบให้ว่า “มีค่ะ” ซึ่งเชื่อว่าหลายๆคนก็คงใช้วิธีเหล่านี้กันอยู่ล่ะ

     สำหรับตอนนี้ เราจะขอเรียงลำดับช่องทางการหาตั๋วจากง่าย - ยาก และข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีเท่าที่พอรู้และเคยทำมาทั้งหมดนะคะ

1. Yahoo Auction และร้านขายตั๋วออนไลน์ (ระดับความยาก ★ ~ ★★)
     เราเชื่อว่าหลายๆคนคงคุ้นเคยกับบริการของยะฮูออคชั่นอันแสนลือลั่นกันดี ที่นี่เป็นแหล่งหาตั๋วยอดฮิตอันดับต้นๆของบรรดาแฟนคลับต่างชาติอย่างเราๆค่ะ มีทั้งบัตรแบบแฟนคลับและบัตรแบบซื้อจากร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านขายตั๋วมือสองออนไลน์อย่าง TicketCamp, ticket.co.jp และอีกหลากหลายเว็บที่ผู้ใช้บริการสามารถโพสต์ขายและหาซื้อตั๋วรอบการแสดงที่ชอบใจได้อย่างอิสระ

ข้อดี : ไม่ต้องไปปวดหัวกับขั้นตอนอันแสนยุ่งยากที่ต้องรอลุ้นว่าจะได้บัตรหรือเปล่า แถมยังต้องลุ้นอีกว่าจะได้ที่นั่งตรงไหน อันนี้จ่ายเงินแล้วก็ได้ตั๋วเลย แถมได้รู้ที่นั่งก่อนตัดสินใจด้วย (แต่ถ้าตั๋วแฟนคลับที่ประกาศขายก่อนได้บัตรมาอยู่ในมือ อันนี้อาจมีลุ้นนิดนึง) บางคนอาจจะประกาศขายแบบไม่ต้องออคชั่น กดซื้อได้เลยก็มี โอกาสโดนโกงมีไม่มาก วิธีการใช้บริการก็มีหลายเว็บ มีหลายคนที่รับออคชั่นของจากยะฮูด้วย เราก็เปย์อย่างเดียวแล้วนอนรอตั๋วมาส่งที่บ้าน(หรือที่โรงแรม)ได้เลยค่ะ

ข้อเสีย : ต้องวัดดวงกันว่าคอนเสิร์ตรอบที่ต้องการนั้นจะมีคนประกาศขายหรือเปล่า ถ้าเป็นคอนเสิร์ตรอบพิเศษหรือที่นั่งดีๆของศิลปินดังๆ ราคาตั๋วจะยิ่งติดจรวดพุ่งสูงทะลุเพดานเลยค่ะ ปิดกันเป็นแสนๆเยนต่อใบก็มีมาแล้ว รวมถึงค่าบริการจากทางเว็บไซต์และคนที่เราฝากให้ดำเนินการให้ที่เค้าจะชาร์จเราเพิ่มด้วย (มากน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละเว็บไซต์) แต่ถ้าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาก็เปย์กันตามสะดวกค่ะ

2. Social Network (twitter / facebook) (ระดับความยาก ★★ ~ ★★★)
     คนญี่ปุ่น (และคนไทย) หลายคนเลือกใช้ SNS เป็นช่องทางในการประกาศขายตั๋วค่ะ โดยส่วนตัวแล้วเจอใน twitter ซะเยอะ บางวงมีแอคเคาต์ แฮชแท็กสำหรับอัพเดทและกระจายข้อมูลการซื้อขายตั๋วกันเลยนะคะ ถ้าไม่มีปัญหากับภาษาญี่ปุ่น การหาซื้อตั๋วทาง SNS ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีค่ะ (แอบกระซิบว่า บางวงก็มีแฟนไทยด้วยกันเองที่เอาตั๋วมาขายนะเออ ลองหาดูดีๆ)

ข้อดี : พูดคุยต่อรองราคาและเงื่อนไขกันได้ บางทีอาจได้เพื่อนเพิ่มด้วย

ข้อเสีย : เนื่องจากไม่มีคนกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเหมือนเว็บไซต์ โอกาสโดนโกงสูงกว่าค่ะ ต้องใช้ความเชื่อใจในระดับที่สูงขึ้นนิดนึง รวมถึงอุปสรรคทางด้านภาษาสำหรับคนไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น (บางทีถึงรู้ยังต้องรอบคอบเลยค่ะ คือบางคนนี่ใส่รูปสุภาพกันมาเต็มที่ก็มี) และบางครั้งก็เสิร์ชหายากว่ามีใครที่ประกาศขายอยู่หรือเปล่า ต้องใช้เวลาในการหาพอสมควรค่ะ

3. ร้านขายตั๋วในญี่ปุ่น (ระดับความยาก ★★ ~ ★★★)
     บางคนไม่เลือกสองวิธีข้างต้น แต่เอาตั๋วที่มีไปขายต่อร้านรับซื้อตั๋วก็มีค่ะ ซึ่งร้านรับซื้อและขายตั๋วเหล่านี้มีกระจายอยู่ทั่วไปในญี่ปุ่นตามบริเวณใกล้ๆสถานีรถไฟ แหล่งช็อปปิ้ง สถานที่จัดงานต่างๆ เพราะร้านแบบนี้ไม่ได้มีแต่ตั๋วคอนเสิร์ตเท่านั้น ยังมีตั๋วอื่นๆเช่นตั๋วรถไฟ ชินกังเซน รวมถึงตั๋วรถบัสราคาถูกให้บริการอีกด้วยค่ะ

ข้อดี : จ่ายเงินปุ๊ปได้ตั๋วปั๊ป เชื่อถือได้ ราคาตั๋วไม่ได้โก่งจากหน้าบัตรมากเกิน (อาจยกเว้นในบางกรณี)

ข้อเสีย : เราไม่มีทางรู้ว่าร้านที่เราเข้าไปจะมีตั๋วคอนเสิร์ตรอบวันและเวลาที่เราต้องการหรือเปล่า ด้วยความที่แต่ละคนสะดวกขายตั๋วคนละร้าน ดังนั้น ตั๋วที่ต้องการจึงมีโอกาสไปอยู่อีกร้านหนึ่งที่เราไม่ได้เข้าไปก็มีค่ะ อาจต้องวิ่งเข้าออกหลายร้าน ใช้เวลาและกำลังกาย กำลังใจมากหน่อยในการหาตั๋ว

4. ตั๋วผีหน้างาน  (ระดับความยาก ★★★ ~ ★★★★)
     ลองหาตั๋วมันทุกวิธีแล้วก็ยังไม่ได้ซะที แต่ก็ไม่อยากตัดใจ อย่างน้อยไม่ได้เห็นหน้า ไปเห็นหลังคาโดม ได้ซื้อของหน้าคอนก็ยังดี ก็ไปเสี่ยงดวงกันตรงสถานที่จัดงานวันนั้นเลยค่ะ ใจกล้าหน้าด้าน เขียนป้ายว่า “ขอตั๋วด้วยค่า/คร้าบ” แล้วคอยชูเข้าไว้ค่ะ ถ้าโชคดีพอคนเริ่มทยอยเข้าฮอลล์ อาจมีคนญี่ปุ่นบางคนเดินเข้ามากระซิบ เธอๆ อยากเข้าไปดูคอนไหมล่ะ นี่มีตั๋วที่ตรงนี้ๆนะ พร้อมจ่ายเท่าไหร่... ขอให้โชคดีจงอยู่กับทุกท่านที่ใช้วิธีนี้ค่ะ

ข้อดี : เหมาะสำหรับคนที่ยังไงก็ได้แล้ว ขอไปตายเอาดาบหน้าก่อน อย่างน้อยก็มีโอกาสได้เจอแฟนวงเดียวกัน เผลอๆอาจได้เพื่อนเพิ่มหน้างานค่ะ

ข้อเสีย : ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าตั๋วผี มันผิดกฎหมายจ้า ต้องแอบๆขายกันนิดนึง ไม่มีพ่อค้าแม่ค้าคนไหนเดินโจ่งแจ้งมาขายนะคะ ถือป้ายรอ ยืนรอวนไปค่ะ แล้วต้องมีสกิลการต่อรองกับทำหน้าตายสูงๆหน่อย คือทำใจเลยว่าโก่งราคาแน่นอน ถ้าราคาที่เราเสนอไปเค้าไม่พอใจ เค้าก็เดินไปถามคนอื่นต่อค่ะ (แต่บางทีก็จะย้อนกลับมาต่อรองกับเราอีกรอบนะ ต้องนิ่งไว้) โอกาสพลาดก็เยอะถ้าเงินในกระเป๋าไม่อำนวยหรือไม่มีคนเอามาขายค่ะ

     อีกเรื่องนึงคือ ช่องทางการหาตั๋วจริงๆแล้วอาจมีมากกว่านี้ ซึ่งเราเองก็ไม่เคยจอง/หาตั๋วของอีกหลายๆค่าย หลายๆเว็บ และอาจมีวิธีหรือช่องทางอื่นๆที่น่าสนใจอีกก็ได้ค่ะ หากใครมีข้อเสนอแนะวิธีอื่นๆก็นำมาแชร์กันได้นะคะ


กรณีการแสดงในรอบนั้นถูกยกเลิก

     บางครั้งอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยจนไม่สามารถเปิดการแสดงได้ เกิดเหตุฉุกเฉินบางอย่างจนไม่สามารถขึ้นแสดงได้และต้องยกเลิกการแสดงรอบนั้นๆไป คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรกับตั๋วที่ได้มาล่ะ?

     ส่วนตัวแล้วเจอกับเหตุการณ์นี้จังๆรอบนึงค่ะ คือสมาชิกวงได้รับบาดเจ็บและขอยกเลิกการแสดงในรอบนั้นไปก่อนจนกว่าจะหายดี ซึ่งหากเกิดกรณีนี้ขึ้นจะมีทางเลือก 2 อย่างคือ ขอคืนเงินค่าตั๋ว หรือไม่ก็รอประกาศการแสดงรอบทดแทน (ขึ้นอยู่กับทางผู้จัดด้วยค่ะว่าจะให้ทางเลือกแบบไหนมาบ้าง) ซึ่งของเราแน่นอนว่าเลือกไปรอบทดแทนค่ะ

ตั๋ว ROOT FIVE STORY LIVE 2016 "JO" ~Butou Emaki~ รอบที่เลื่อนการแสดง

     ในกรณีนี้ ทางผู้จัดจะไม่ส่งตั๋วใบใหม่มาเปลี่ยนให้ แต่จะให้ใช้ตั๋วใบเดิมและคอยติดตามรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงทาง official website อีกครั้ง หากเราไม่สามารถไปในรอบทดแทนได้ก็สามารถขอคืนเงินหรือขายตั๋วต่อได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองวิธีต้องวานคนที่อยู่ในญี่ปุ่นเป็นคนช่วยจัดการแทนให้ เพราะมีข้อจำกัดอีกมากมายพอสมควรอย่างเรื่องการโอนเงินและอะไรต่างๆ

     หากเราจะซื้อตั๋วในลักษณะนี้มา อย่าลืมเช็ครายละเอียดสถานที่ รอบการแสดง และเวลาใน official website ให้มั่นใจอีกครั้งนะคะ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากหน้าตั๋วแล้ว อาจต้องคอยฟังประกาศก่อนเข้าคอนให้ดีๆค่ะ


     จบแล้วค่า หวังว่าข้อมูลในเอนทรี่นี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคนที่คิดจะลองไปแสวงบุญ เอ้ย ลองไปดูคอนเสิร์ตหรือเข้าอีเวนต์ที่ญี่ปุ่นได้ไม่มากก็น้อยนะคะ หากมีข้อสงสัยหรืออยากพูดคุยสอบถามก็เข้ามาคุยกันได้เสมอค่า แล้วพบกันใหม่เอนทรี่หน้าค่ะ ^^

Post a Comment

2 Comments

  1. อยู่ไทยจะมีสิทธิ์จองทางไหนบ้างไหมค่ะ อยากดู

    ReplyDelete
  2. สวสัดีค่ะ ช่วยสอนวิธีกดบัตรผ่าน eplus+ , TicketPia หน่อยได้ไหมคะ

    ReplyDelete