[Review] พระเจ้าในห้องสมุด


cover1
“นิยายแห่งความรักในชีวิตและความหมายของความฝันที่ญี่ปุ่นยกย่องว่า สนุกรื่นรมย์เหมือน Dead Poet Society”

          หนังสือเล่มนี้ จะเรียกว่าได้มาด้วยความบังเอิญก็คงเรียกไม่ได้เต็มปาก เพราะเคยเข้าไปแอบเล็งๆไว้ที่หน้าเว็บของทางสำนักพิมพ์อยู่ก่อนแล้ว และงานหนังสือครั้งที่ผ่านมาก็ได้มีโอกาสซื้อมาเป็นของตัวเองด้วยราคาที่ลดลงเกือบครึ่งจากราคาปกติ 

          การที่เราเองสะดุดใจหนังสือเล่มนี้ เป็นเพราะชื่อเรื่อง “พระเจ้าในห้องสมุด” หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่นคือ 「図書館の神様」(Toshokan no Kamisama) ตัวเราเองก็ผูกพันกับห้องสมุดและหนังสือมาตั้งแต่เด็ก หลงใหลอยู่กับกลิ่นหมึก กระดาษ และความสนุกสนานของเรื่องราวต่างๆที่อยู่ในหนังสือ เมื่อรู้ตัว ห้องสมุดก็กลายเป็นที่ที่เราเดินเข้าบ่อยยิ่งกว่าการเดินไปสนามเด็กเล่นเสียอีก ดังนั้น เราจึงรู้สึกว่าควรจะลองหยิบหนังสือเล่มนี้มาเพื่อระลึกถึงเรื่องราวและกลิ่นอายของห้องสมุดและหนังสือที่ทำให้เราเกิดความหลงใหลมาอ่านดูเสียบ้าง

          หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของคิโยะ สาวผู้ยึดติดกับกฏเกณฑ์และมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงสิ่งที่ฝันได้ แต่เมื่อวันหนึ่งเหตุการณ์พลิกผัน เธอจึงต้องทิ้งสิ่งที่เธอเคยรักและละทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิมๆไป เธอได้แต่ปล่อยให้ตัวเองไหลไปตามกระแส จากคนที่เคยมีความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจัง กลับกลายเป็นคนที่ไม่จริงจังกับอะไรทั้งสิ้นเนื่องจากบาดแผลในใจนั้นยังคงอยู่ เมื่อเรียนจบ หญิงสาวตัดสินใจไปเป็นครูในโรงเรียนต่างจังหวัดที่ติดทะเลและจับพลัดจับผลูมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมวรรณศิลป์ที่มีนักเรียนชั้นมัธยมหกชื่อ คาคิคุจิ เป็นสมาชิกชมรมอยู่เพียงคนเดียว ในท่ามกลางบรรยากาศของห้องสมุดโรงเรียนที่เรียบเรื่อย คิโยะก็ได้พบกับความหมายของชีวิตที่เธอได้ลืมเลือนไปอีกครั้ง

          อย่างที่ได้บอกไปในตอนต้นแล้วว่า ชีวิตของเราสมัยประถมและมัธยมนั้น ผูกพันอยู่กับห้องสมุด เราจึงอ่านและทำความเข้าใจกับหนังสือเล่มเล็กๆเล่มนี้ได้อย่างง่ายดาย จุดร่วมของคิโยะและคาคิคุจิคือ ทั้งคู่เคยเล่นกีฬาและได้รับบาดแผลทางใจจากกีฬาเช่นเดียวกัน แต่คนทั้งสองได้เลือกเส้นทางที่ต่างกัน ขณะที่คิโยะได้เลือกที่จะปล่อยตัวเองโยไม่คิดจะค้นหาความฝันครั้งใหม่ แต่คาคิคุจิกลับพบสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในระหว่างบรรทัดและมนตร์สเน่ห์ของหนังสือ 

         ตัวคิโยะเองมีคนรักที่ชื่ออาซามิ แต่อาซามินั้นมีภรรยาแล้ว ซึ่งคิโยะก็รู้และยอมรับในความสัมพันธ์นั้นได้ ตัวอาซามิเป็นคนที่เรียกได้ว่า เหมือนกับตัวคิโยะในสมัยที่ยังเป็นกัปตันทีมวอลเลย์บอล คือเป็นคนที่เอาจริงเอาจังในทุกๆเรื่องและมักจะไม่พอใจเสมอเวลาที่มีใครทำอะไรออกนอกลู่นอกทางที่ตัวเองได้กำหนดไว้ อาจเป็นเพราะสิ่งนี้ที่ดึงดูดให้คิโยะหลงใหลอาซามิ แต่เมื่อเธอได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและได้พูดคุยกับคาคิคุจิ สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆทำให้คิโยะแยกจากอดีตและกล้าที่จะก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น

          อาจจะพูดได้ว่า สิ่งที่ทำให้คิโยะเปลี่ยนแปลงไปนั้นคือคาคิอุจิและหนังสือที่หญิงสาวได้ลองอ่าน เธอค่อยๆค้นพบความสนุกของวรรณกรรมที่เธอเคยคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ได้เปิดมุมมองใหม่ๆจากการพูดคุยกับคาคิอุจิ และได้มองเห็นเส้นทางที่ตัวเธอควรจะก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้จากชมรมและห้องสมุดที่มองเห็นทะเลได้นี้ 

          เรียงความของชมรมวรรณศิลป์ที่คาคิอุจิอ่านในงานปัจฉิมนิเทศนั้น มีเนื้อหาในตอนหนึ่งที่ว่า “วรรณกรรมทำให้ผมได้มองเห็นสิ่งต่างๆได้เช่นเดียวกับผู้คนในสมัยก่อน ผมตกหลุมรักกระทั่งหญิงสาวที่ไม่เคยรู้จัก ผมสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในใจออกมาได้ เอาเป็นว่าระหว่างที่อยู่ในโลกแห่งวรรณกรรม ผมสามารถทำสิ่งต่างๆได้มากมาย โนบิตะใช้ไทม์แมชชีนข้ามเวลา ไปรอบโลกด้วยประตูทุกหนแห่ง มาเกลแลนใช้เรือ พี่น้องตระกูลไรต์ใช้เครื่องบินเหินฟ้าสู่โลกใหม่ ส่วนผมสามารถทำ ‘สิ่งเหล่านั้น’ ได้ด้วยการพลิกหน้าหนังสือ”  คำพูดนี้พุ่งตรงมาสู่หัวใจของเรา เพราะสิ่งที่เราได้รับจากหนังสือต่างๆ ทั้งวรรณกรรม วรรณคดี สารคดี หรือสิ่งอื่นๆ ล้วนเป็นเสมือนประตูที่เปิดออกไปสู่โลกใหม่ เพียงแค่เราพลิกหน้ากระดาษและปล่อยให้ตัวเราล่องลอยไปกับสายธารแห่งวรรณกรรมในเรื่อง เราสามารถเป็นในสิ่งที่อยากเป็น ความฝันต่างๆที่ไม่มีที่สิ้นสุดได้รับการเติมเต็มเมื่อเปิดหนังสือ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรารู้ซึ้งยิ่งกว่าอะไรตลอดเวลาที่อ่านหนังสือ

         ด้วยความที่หนังสือเล่มนี้มีจังหวะการเล่าที่เรียบเรื่อยแต่ไม่น่าเบื่อ เราเชื่อว่าใครหลายๆคนจะอ่านจบได้อย่างไม่ลำบาก และอาจจะช่วยจุดประกายให้รู้ซึงถึงความมหัศจรรย์ของตัวหนังสือที่ทำให้หลายๆคนหลงใหลได้เป็นอย่างดี และเข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่ “บ้าอ่านหนังสือ” หลายๆคนว่าสิ่งเหล่านี้มันมีมนตร์สเน่ห์น่าดึงดูดสักเพียงไร เราเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้หัวใจของใครหลายๆคนอบอุ่นขึ้นมาได้อย่างแน่นอน


ชื่อหนังสือ : พระเจ้าในห้องสมุด
ผู้เขียน : Maiko Seo
ผู้แปล : หนึ่งฤทัย ปราดเปรียว
สำนักพิมพ์ : บลิสพับลิชชิ่ง

Post a Comment

0 Comments