[TRANS] koma'n "SEVENTEEN O'CLOCK" Interview @MUSIC VOICE


     สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับแปลบทสัมภาษณ์กันอีกครั้งนึงนะคะ สำหรับครั้งนี้เป็นบทสัมภาษณ์ของโคมังกับมินิอัลบั้มล่าสุดที่เพิ่งออกไปเมื่อเดือนพฤศจิกา ปีที่แล้วค่ะ

     จริงๆแล้วบทสัมภาษณ์อันนี้ออกมาพักใหญ่แล้ว เรียกได้ว่าอยู่ช่วงเดียวกับ Daigyakuten Emotion ของ ROOT FIVE เลย แต่ด้วยความที่ช่วงนั้นก็วุ่นกับอะไรหลายๆอย่าง เลยดองเอาไว้จนถึงตอนนี้ค่ะ ที่จริงแล้วตอนนี้ก็วุ่นๆกับการทำธีสิสอยู่ แต่ก็อยากแปลให้เสร็จไปก่อนที่จะลืมแล้วมีอัลบั้มใหม่มาอีก (เหมือนกับบทสัมภาษณ์อัลบั้มแรกที่ตั้งใจจะแปลแต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่เสร็จจนถึงปัจจุบัน = =) และถือเป็นการคลายเครียด(?)ให้ตัวเองไปในตัวด้วยค่ะ

     สำหรับงานแปลก็เช่นเคย เราอาจไม่ได้แปลเป๊ะมาก หลายๆส่วนเรียบเรียงและปรับคำตามความเข้าใจของเราให้อ่านง่ายขึ้น ถ้ามีแปลผิดพลาดไปต้องขออภัยด้วยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ




ずばり新作はひやおろし、koma’n 異種共演で発見、新たな世界
青春の「SEVENTEEN O’CLOCK」
ผลงานใหม่คือ hiyaoroshi* โลกใบใหม่ที่ koma’n ได้ค้นพบด้วยการทำงานร่วมกันกับคนต่างสายงาน
“SEVENTEEN O’CLOCK” ของวัยรุ่น


(ひやおろし hiyaoroshi คือเหล้าที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วและเก็บไว้ในถังไม้ขนาดใหญ่ เมื่อผ่านฤดูร้อนไปแล้วและอุณหภูมิภายนอกกับภายในโรงเก็บเหล้าพอๆกัน ก็จะนำเหล้าออกมาจำหน่ายโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออีกรอบ ถือเป็นเหล้าที่มีคุณค่าในฐานะเหล้าของฤดูใบไม้ร่วง)


koma’n นักร้องและนักแต่งเพลงที่มีฐานะเป็นลีดเดอร์ที่อายุน้อยที่สุดของ ROOT FIVE โวคอลกรุ๊ปที่มีสมาชิกผู้ชาย 4 คนนั้น ได้ปล่อยมินิอัลบั้ม “SEVENTEEN O’CLOCK” ในวันที่ 23 พฤศจิกายน เขาโดดเด่นในเรื่องของพรสวรรค์ในด้านการเขียนคำร้อง ประพันธ์ทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสาน ทั้งยังทำเพลงให้กับวงไอดอลอื่นๆที่ไม่ใช่แค่วงของตัวเองเท่านั้นด้วย โดยผลงานโซโล่ในครั้งนี้นั้น ได้ครีเอเตอร์ที่มีชื่อเสียง 3 คนคือ zopp นักประพันธ์เพลง โคดะ โมโมโกะ นักเขียนการ์ตูนผู้หญิง และอาโอยาม่า ยูคิ ช่างภาพ มาช่วยดึงภาพการมองโลกของเขาให้แตกต่างออกไปจากที่เคยเป็นมาจนถึงตอนนี้อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้เราจะมาพูดคุยกันในเรื่องของสไตล์การผลิตผลงานในรูปแบบใหม่ สิ่งที่ได้รับรู้จากการทำงานร่วมกัน รวมถึงเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับเพลงอีกด้วย

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : Hashimoto Minami
แปลไทย : AniaRovana
ที่มา : http://www.musicvoice.jp/news/20161118052428/
*ห้ามนำบทแปลไปโพสต์ที่อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต*



“Shiosai Elegy” ที่ตั้งใจจะให้เป็น โอกะ เทตสึโรซังในยุคปัจจุบัน

――ก่อนอื่น อยากถามเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ผ่านมาของ koma’n ซังก่อน สาเหตุที่เข้ามาในโลกของดนตรีคืออะไร

   เพราะพ่อแม่ผมทำงานด้านดนตรี ผมเลยได้เรียนเปียโนมาตั้งแต่เด็กครับ แล้วก็ได้สัมผัสกับกีตาร์ตั้งแต่ช่วงประมาณมัธยมต้น ตอนมัธยมปลายก็อัพคลิปขึ้นเว็บไซต์ Nico Nico Douga ซึ่งตอนนั้นผมโคฟเวอร์เพลง ได้ทำเพลงแล้วก็อะเรนจ์เพลงด้วยเปียโนครับ จากนั้นก็ได้เมเจอร์เดบิวต์กับ ROOT FIVE (ชื่อในตอนนั้นคือ √5) ในช่วงเวลาเดียวกับที่จะจบมัธยมปลายพอดี ผมได้ทำกิจกรรมอีกมากมายจากตรงนั้น ได้ออก CD โซโล่ แล้วก็ได้ทำเพลงให้กับศิลปินครับ


――มีความสนใจอย่างอื่นนอกเหนือจากดนตรีหรือเปล่า

   เหล้าครับ


――จะว่าไป เหล้าที่ชอบที่สุดคืออะไร?

   ผมชอบเหล้าโชจูน้ำตาลทรายแดง Nagakumo Ichibanbashi ครับ ผลิตที่โรงเหล้ายามาดะที่เกาะอะมะมิ ผมชอบมากขนาดเคยไปดื่มกับเจ้าของโรงเหล้ามาด้วยครับ


――แสดงว่าชอบจริงๆนะนี่ ใน “SEVENTEEN O’CLOCK” ที่จะวางขายวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ก็ได้ทำงานร่วมกับครีเอเตอร์ข้ามสาขาด้วย รายละเอียดที่ทำให้มาร่วมกันกับทั้ง 3 คนนี้คืออะไร?

   กับตัว zopp ซังนี่เป็นครั้งแรกครับ คือผมมีโอกาสได้ทำเพลงให้กับวงในสังกัดจอห์นนี่ส์น่ะครับ แล้ว zopp ซังก็เกี่ยวของกับคนของทางจอห์นนี่ด้วย ทางผมเลยขอร้องไปว่า “พอจะสนใจเขียนเนื้อเพลงให้กับเพลงนั้นได้หรือเปล่า” น่ะครับ

   ส่วนอาจารย์โคดะ โมโมโกะที่เป็นนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงนั้น ผมเคยอัพขึ้นทวิตเตอร์ไปว่ากำลังอ่าน “Heroine Shikkaku” (ชื่อไทย นางเอกตกกระป๋อง) ที่เป็นผลงานของอาจารย์โคดะอยู่น่ะครับ พอทำอย่างนั้นแล้วอาจารย์ก็ตอบกลับมา แถมยังฟอโลว์ผมด้วยครับ หลังจากนั้น พอได้ดูทวิตเตอร์แล้วก็พบว่าเราทั้งคู่ชอบดื่มเหล้าเหมือนกัน… เริ่มจากที่ชวนว่า “ไปดื่มด้วยกันสักครั้งเถอะ” เมื่อประมาณสามปีก่อน แล้วก็สนิทกันจากตรงนั้นจนถึงตอนนี้ พูดง่ายๆคือเป็นเพื่อนดื่มครับ แบบว่าไม่เคยเห็นในจุดที่กำลังทำงานด้วยกันทั้งคู่ (หัวเราะ)

   อาโอยาม่า ยูคิซัง ช่างภาพที่ถ่ายภาพปกให้นั้น คือสมัยก่อนผมสนใจหนังสือรวมกลอนแล้วก็ทำขายในงานคอมมิคเกะด้วย ซึ่งตอนนั้นผมก็ถ่ายภาพร่างกายของสาวมัธยมปลายแบบเดียวกับอาโอยาม่าซัง ด้วยเหตุนั้น คนที่ทำเว็บไซต์ที่สนิทกันของผมก็เลยไปติดต่อกับอาโอยาม่าซังให้ครับ หลังจากนั้นก็ได้รู้จักกับแบบเห็นหน้าจริงๆเป็นครั้งแรกตอนสัมภาษณ์ครับ


――zopp ซังเขียน 3 เพลงคือ “Shiosai Elegy” “SAKURA NO SHITA” “HITOKURI” มีจุดเด่นในผลงานที่ทำออกมาร่วมกันหรือเปล่า?

   คือในครั้งนี้วิธีการแต่งของทั้ง 3 เพลงจะแตกต่างกันออกไปครับ “Shiosai Elegy” นั้นค่อนข้างจะเรียกได้ว่าแต่งทั้งทำนองและเนื้อร้องควบคู่กันไป zopp ซังจะวางกรอบ แล้วก็ลงให้มาก่อนว่า “เอาเนื้อเพลงด้วยมุมมองประมาณนี้เถอะ!” แล้วผมก็จะแต่งทำนอง แล้วก็ให้ทางนั้นแต่งเนื้อร้องทั้งท่อนที่ติดหูที่น่าจะใช้ได้ออกมาอีก ประมาณนี้ไปด้วยกันเรื่อยๆน่ะครับ

   “SAKURA NO SHITA” นั้นแต่งเนื้อร้องก่อนครับ ประมาณว่าผมจะใส่เนื้อร้องเข้าไปในเนื้อเพลงที่มีอยู่ก่อนแล้ว ส่วน “HITOKURI” นั้นกลับกันคือแต่งทำนองก่อน คือแต่งทั้ง 3 เพลงด้วยวิธีการที่ต่างกันทั้งหมดน่ะครับ ซึ่งความแตกต่างตรงนั้นตัวผมเองก็รู้อยู่ว่าถ้าแต่งทำนองก่อนก็จะออกมาในแบบที่เป็นตัวเอง ถ้าแต่งเนื้อร้องก่อนก็จะออกมาเป็นแบบ zopp ซังในทุกๆด้าน ถ้าจะสนุกไปกับความแตกต่างตรงนั้นได้ผมก็ดีใจครับ

   เกี่ยวกับ “Shiosai Elegy” เนี่ย ตอนเริ่มแรกไม่ได้คุยกันว่าจะเป็นมินิอัลบั้ม คือตอนแรกคุยกันว่าเป็นซิงเกิลน่ะครับ แล้วจากตรงนั้นก็บอกว่า “เอาล่ะ ถ้าจะทำงานร่วมกัน งั้นก็มาทำร่วมกับคนหลายๆแบบกันเถอะ” แล้วกลายมาเป็นมินิอัลบั้ม ซึ่งเพลงแรกสุดก็คือ “Shiosai Elegy” นี่ล่ะครับ ตอนนั้นที่กำหนดธีมร่วมกับ zopp ซังก็ยกเอาความชอบที่มีร่วมกันขึ้นมา ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ได้รู้ว่าเราทั้งสองคนชอบ “สแลมดังค์” เหมือนกัน

   ยิ่งไปกว่านั้น พอพูดถึง “สแลมดังค์” แล้วก็คุยกันว่า เพลงธีมก็เป็นเพลง “Being kei” สินะครับ (ビーイング系 Being kei คือ ลักษณะเพลงของศิลปินในสังกัดบริษัท Being ที่มักทำซาวน์เพลงในลักษณะสดใส ติดหูและรื่นหู หรือเรียกได้ว่าเป็นเพลงป๊อปซึ่งเป็นที่นิยมและขายได้ ซึ่งเพลง Being kei นั้นเป็นที่นิยมมากในช่วงยุค 90’ ศิลปินที่มีชื่อเสียงเช่น ZARD, DEEN, B’z เป็นต้น) เลยยึดเอาตรงนั้นไว้แล้วว่าจะทำเพลงแบบ Being kei แล้วก็สร้างคอนเซปต์ว่า สมมติว่าผมเป็น โอดะ เทตสึโรซังแล้ว… ขึ้นมาครับ (織田哲郎 Oda Tetsuro นักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ที่มีชื่อเสียง) คือถึงแต่งออกมาแบบดูไม่ค่อยเคารพ (ลักษณะเพลงของ Oda Tetsuro) ก็ตาม แต่พอใส่แซกโซโฟนเข้าไปแล้วก็ให้ความรู้สึกของอดีตแบบ Being น่ะครับ อย่างพวกท่อนฮุคหรือการดำเนินคอร์ดก็ใส่ canon เข้าไปเป็นพื้นฐานทีละอัน แล้วก็ลดเสียงลงไปเรื่อยๆแบบที่โอดะซังทำบ่อยๆครับ ตรงนั้นผมก็เลียนแบบไปด้วยนิดนึง เรียกว่าเป็นเพลงนึงที่ผมตั้งใจจะให้เป็น โอดะ เทตสึโรซังในยุคปัจจุบันครับ


――ทั้งสามเพลงนี่ก็ให้ความรู้สึกล่องลอยอยู่ในความเศร้าเลยนะ

   ใช่แล้วครับ ครั้งนี้จะค่อนข้างจะทำเพลงที่เรียกว่าเป็นวันเวลาเก่าๆน่ะครับ


――ตรงช่วงเริ่มเพลง “Shiosai Elegy” นี่ koma’n ใส่ท่อนพูดว่า “Shiosai Elegy” เข้าไปด้วยนี่นะ อันนั้นน่ะให้ความรู้สึกดิบๆมากเลย

   อันนั้นหรือครับ คือผมทำเล่นๆ แบบอัดเสียงไปแบบสบายๆแล้วสตาฟฟ์ก็ถามว่า “จะลองใส่ท่อนพูดตอนสุดท้ายดูไหม” ก็เลยลองดู แล้วสตาฟฟ์ก็บอกว่า “ดีแฮะ! อันนี้แหละ!” น่ะครับ ถึงจะเขินก็เถอะ แต่ถ้าฟังด้วยหูฟังแล้วอาจค่อนข้างมีดาเมจเลยก็ได้ (หัวเราะ)

   เนื้อเพลงก็เป็น Being kei แบบที่บอกไปเมื่อกี้แล้ว เนื้อเพลงที่ว่า “ล่องลอย (pokkari)” ช่วงต้นของท่อนแรกนั้น จริงๆแล้วคือ Pocari Sweat (ยี่ห้อเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อหนึ่ง) ครับ คือ CM ของ Pocari Sweat น่ะ Being เป็นคนทำมาตลอดเลยน่ะครับ พอมีธีมเบื้องหลังแบบนั้น ก็เลยว่าจะใส่ POKARI เข้าไปในเนื้อเพลงด้วย เลยใส่คำว่า “ล่องลอย (pokkari)” เข้าไปด้วยครับ


――”SAKURA NO SHITA” “Shiosai Elegy” “HITOKURI” นี่ให้ความรู้สึกถึงฤดูกาลทั้งสี่เลยนะ

   ตัวอัลบั้มในครั้งนี้มีอิมเมจของวัยรุ่นน่ะครับ แน่นอนว่าในช่วงวัยรุ่นก็มีฤดูกาลทั้งสี่ด้วย แล้วก็ “ถ้าใส่ธีมพวกรักที่ไม่สมหวังเข้าไปด้วยก็น่าจะดี” ถึงท้ายสุดแล้วก็ไม่ใช่ 4 ฤดูแต่เป็น 3 ฤดูก็ตาม (หัวเราะ) คือฤดูใบไม้ร่วงมันยากครับ ต้องประมาณแบบว่าดอกคอสมอสหรือเปล่า? ถึงจะมีพวกงานแข่งกีฬาหรืองานวัฒนธรรม แต่ว่านั่นก็จัดแยกกันไปตามแต่ละโรงเรียนด้วย คือผมรู้สึกว่าเพลงที่พูดถึงฤดูใบไม้ร่วงมีอยู่น้อยครับ ฤดูใบไม้ร่วงสำหรับผมนี้ก็มีแต่เรื่องกินเห็ดมัตสึทาเกะ… (หัวเราะ)



ช่วงมัธยมปลายที่ไม่ได้กลมกลืนไปกับโรงเรียน

――เพลงที่ 2 “Fighteen!” นั้น koma’n ซังรับหน้าที่แต่งเนื้อร้อง ทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสานทั้งหมด สำหรับเพลงนี้แล้ววาดอิมเมจเอาไว้อย่างไร?

   เรียกว่าเป็นเพลงเชียร์ให้กำลังใจตามที่ได้ฟังเลยครับ คือเป็นเพลงที่บอกกับวัยรุ่นว่า “พยายามเข้า”  เพลงให้ความรู้สึกแบบป๊อปและฟังกี้ คือช่วงนี้ผมคิดว่า “พวกนักเรียนกำลังพยายามกันอยู่สินะ…” พอเป็นผู้ใหญ่แล้วมีทางหนีมากมายอย่างการดื่มเหล้า แต่ตัวผมตอนเป็นนักเรียนเนี่ย ไม่ได้มีทางหนีจากความเครียดขนาดนั้น ก็เลยทำเพลงเชียร์ให้กำลังใจที่อยากจะส่งไปให้ถึงเด็กนักเรียนพวกนั้นน่ะครับ

   แต่ถึงจะบอกว่าวัยรุ่นก็ตาม ผมก็เขียนโดยคำนึงถึงผู้ใหญ่ด้วยเช่นกันครับ พอเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่ค่อยมีใครมาบอกว่า “พยายามเข้านะ” หรือ “เหนื่อยหน่อยนะ” ด้วยใช่ไหมล่ะครับ? พอแยกกับพ่อแม่แล้วน่ะ แถมยังไม่มีคนคอยช่วยปลอบใจด้วย จะพูดว่า “พยายามอยู่นะ!” ด้วยตัวเองมันก็เขินแล้วก็ดูน่าสมเพชด้วย ก็เลยรู้สึกประมาณว่ามีตัวเองที่อยากได้รับคำชมอยู่สักหน่อยน่ะครับ แล้วก็เป็นเพลงเชียร์ให้กำลังใจไปถึงคนที่เป็นแบบนั้นด้วยเช่นกัน


――แล้วมีคำแนะนำจาก koma’n ถึงเด็กๆอายุราวๆ 10 กว่าปีในตอนนี้ อย่างเช่นว่า ควรจะทำสิ่งนี้ไว้ดีกว่านะ แบบนี้อยู่หรือเปล่า?

   นั่นสินะครับ แน่นอนว่า ในระหว่างที่เป็นเด็กนี่อย่าไปยุ่งกับเรื่องไม่ดีในระดับที่ผิดกฎหมายจะดีกว่า ในเรื่องความรักก็ด้วย ถึงจะไม่ได้พูดอะไรพวกนั้นไปก็ตาม… (หัวเราะ)


――แล้ว koma’n ซังผ่านช่วงอายุราวๆ 10 ปีนี้มาแบบไหน?

   ก็วางเอาไว้ว่าผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย แล้วก็ทำตัวเฮ้วๆน่ะครับ (หัวเราะ)



――ช่วงวัยรุ่นได้ทำอะไรที่น่าสรรเสริญหรือเปล่า?

   ช่วงวัยรุ่น ตอนมัธยมต้นก็ทำครับ แต่ตอนนี้มัธยมปลายไม่ได้ทำ คือผมเข้ากับโรงเรียนไม่ค่อยได้


――ไม่ได้รู้สึกแบบนั้นเลยนะ ดูท่าว่าจะสดใสแล้วก็ร่าเริงยิ่งกว่าอีก

   ตอนมัธยมต้นก็เคยร่าเริงครับ แต่พอเข้ามัธยมปลายด้วยความร่าเริงแบบนั้นแล้ว ทุกคนก็กลับเอาจริงเอาจังน่ะครับ แต่ว่าเป็นโรงเรียนที่อิสระ คือเป็นระบบเก็บหน่วยกิต ให้ใส่ชุดไปรเวท ย้อมผม หรือใส่ต่างหูได้ครับ แต่โรงเรียนก็แปลกกว่าโรงเรียนรัฐนะครับ เพราะทุกคนหัวดีก็เลยมีทั้งส่วนที่เอาจริงเอาจัง แต่ก็มีส่วนที่อิสระเพราะชุดไปรเวท แน่นอนว่ามันก็มีเส้นแบ่งเขตที่น่าหัวเราะอยู่ด้วย เพราะที่นี่มีเด็กไม่ดีแบบผมท่ามกลางเด็กดีที่ไม่มีทางข้ามเส้นแบ่งเขตที่ต้องข้ามผ่านไปเอาไว้ ประมาณว่า “เอ๊ะ?” คือเข้ากันไม่ค่อยได้น่ะครับ


――เคยเข้าชมรมอะไรหรือเปล่า?

   ตอนมัธยมต้นก็เข้าพวกชมรมบาส วิ่งระยะไกล แล้วก็ชมรมประสานเสียงครับ วิ่งระยะไกลนี่พอเข้าชมรมบาสแล้วก็โดนให้วิ่งเพื่อเพิ่มกำลังกายน่ะครับ ก่อนเริ่มกิจกรรมของบาส ชมรมวิ่งระยะไกลก็จะให้วิ่งตอนตีห้าครึ่งหรือหกโมง แล้วก็เริ่มกิจกรรมของชมรมบาสตั้งแต่ประมาณ 7 โมง ส่วนมัธยมปลายนี่อยู่ชมรมกลับบ้าน (ไม่เข้าชมรมอะไรเลย) ครับ


――ชื่อของ koma’n ซังนี่มาจากชื่อเล่นสมัยมัธยมปลายใช่ไหม?

   เป็นชื่อเล่นครับ คือโดนเรียกว่า “โคมะจัง” เพราะมีช่วงนึงผมเป็นสมาชิกผีของชมรมดนตรีน่ะครับ ย่อเป็นโคมะจัง มาจากชื่อโคมะซาว่าก็เป็น “โคมะจัง”... “โคม้าาาา”...  “โคมัง” ตามนี้ครับ



พยายาม “แอ๊บแบ๊ว”

――”Tsumasaki Shoujo” เพลงที่ 4 นั้นทำร่วมกับอาจารย์โคดะ โมโมโกะ นักเขียนการ์ตูนผู้หญิงชื่อดังที่เคยร่วมงานกันใน “Kyou no Torimodose!” ผลงานก่อนหน้านี้ เพลงนี้เป็นเพลงที่ทำให้ใจเต้นได้แบบสุดๆไปเลยจริงๆ

   จริงหรือครับ? ตกใจใช่ไหมล่ะ? คือถ้ามองจากมุมมองของผู้หญิงแล้วแบบนี้จะดีหรือเปล่าเนอะครับ เพราะผู้หญิงโดยเฉพาะคนที่ชอบผู้ชายอายุมากกว่าเนี่ยมีเยอะจริงๆครับ เพลงนี้เป็นเพลงของเด็กสาวที่หัวเราะ “หึหึหึหึ” เพราะคนที่อายุมากกว่าประเมินค่าผิดไปน่ะครับ เป็นเนื้อเพลงที่อิมเมจขึ้นจากการมองโลกในแบบการ์ตูนผู้หญิงร่วมกับอาจารย์โคดะครับ

   เพราะครั้งก่อน ใน “Kyou wo Torimodose!” ที่ทำร่วมกันนั้นเป็นเพลงเกี่ยวกับการดื่มเหล้าไปเสียได้ทั้งที่เป็นนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงแท้ๆ… (หัวเราะ) เพราะทางนั้นบอกว่า “อยากเขียนเพลงที่ทำให้หัวใจเต้นตึกตัก” ก็เลยคุยงานกันในระหว่างดื่มเหล้าเพื่อสร้างโลกที่น่ารักขึ้นมาครับ


――ในเพลงมีเนื้อท่อนที่ว่า “แย่ละ งานเข้า♪” อันนั้นนี่แสดงออกถึงความผิดหวังได้ชัดมากเลยนะ

   อันนั้นน่ะแสดงถึงความผิดหวังจริงๆแหละครับ เพราะการ์ตูนของโคดะซังเนี่ยก็มีมุขฮาๆอยู่เยอะ เลยคิดว่าควรใส่อะไรเล่นๆเข้ามาสักนิด ผมเลยค่อนข้างจะได้เล่นมากเลยล่ะครับ


――พอ koma’n ร้องเพลงที่เป็นโลกในการ์ตูนผู้หญิงแล้ว ผู้หญิงทั้งโลกก็โดนน็อคเอาท์

   การร้องเพลงที่มีมุมมองของผู้หญิงนั้น ตอนแรกก็ฝืนอยู่ครับ แต่ก็พยายาม “แอ๊บแบ๊ว ครับ แล้วก็ออกเสียงได้สูงขึ้น


――การแสดงออกด้วยซาวน์แบบความรักแรกแย้มนี่ค่อนข้างจะลำบากเลยหรือเปล่า?

   คือตัวผมเองชอบเพลงป๊อปแบบไอดอลน่ะครับ เพลงนี้ก็เป็นเพลงป๊อปประมาณไอดอลในยุคโชวะนิดหน่อย เพลงประมาณนี้น่ารักแล้วก็สนุกที่ได้ทำเลยทำได้โดยอย่างราบรื่นโดยไม่รู้สึกลำบากครับ


――เพลงที่ 6 “Giving You Another Name” นั้นเป็นเพลงบรรเลง คือร่วมงานกับมุรายามะ เรียวซังและทานากะซังมานานแล้วใช่ไหม?

   กับมุรายามะนั้นเป็นเพื่อนร่วมชั้นสมัยมัธยามปลายแล้วเขาก็เป็นนักกีตาร์รวมถึงอาจารย์สอนกีตาร์ด้วย เลยมาดีดกีตาร์ให้ทางผมเสมอ ส่วนทานากะนั้นเป็นรุ่นน้องที่เด็กกว่าปีนึงสมัยมัธยมปลาย เขาตีกลองครับ ตอนที่ว่าจะทำเพลงวัยรุ่นเลยคุยกันว่าจะทำเพลงบรรเลงกัน พวกมุรายามะนั้นปกติแล้วจะทำแบบผสมผสานกับพวกแจ๊ซด้วย ดังนั้นก็เลยเริ่มจากการที่ว่าถ้าได้มาทำงานสนุกๆร่วมกันจากตรงนั้นได้ก็คงดี จริงๆแล้วสองคนนี้เองก็ค่อนข้างเป็นพวกบิดเบี้ยวและแปลกๆด้วยล่ะครับ

   เอาล่ะ พวกเราคุยกันว่าจะแสดงถึงความเป็นวัยรุ่นที่บิดเบี้ยวออกมาด้วยเพลงบรรเลง แต่ว่าผมเองก็ยุ่งๆเพราะต้องทำเพลงอื่นๆด้วย พอคุยกันว่า “งั้นเขียนเพลงบรรเลงเก็บไว้ก่อนแล้วกัน” ก็เลยทำออกมาได้แบบใกล้เคียงกับแบบสำเร็จมากกว่าที่คิด แบบรู้สึกว่า “ไม่มีช่องว่างตรงไหนให้ผมอะเรนจ์อีกแล้วไม่ใช่หรือไงกัน!” สุดท้ายแล้วผมรู้สึกว่าเลยไม่ได้เข้าไปแต่งทำนองเลยครับ (หัวเราะ) ตอนอัดจริงรอบแรก ทุกคนก็ดีดกันไปตามที่ตัวเองชอบ แล้วก็มีเปลี่ยนแปลงบ้างตอนช่วงโซโล่ครับ


――มีเพลง ”Calc.~FAZIOLIver.~” เพลงของ JimiisamuP ซัง (ジミーサムP) ที่บันทึกอยู่เป็นเพลงที่ 7 ด้วย ทำไมถึงเลือกเพลงนี้มา?

   เมื่อก่อนผมเองก็โคฟเวอร์เพลงนี้ด้วยเปียโน แล้วก็เป็นเพลงที่ผมเอามาร้องในไลฟ์ส่วนตัวด้วยความชอบเป็นพิเศษด้วยครับ ผมจะทำเพลงโคฟเวอร์แบบอะเรนจ์ใหม่ทุกครั้งที่ออก CD ตอนที่อะเรนจ์ใหม่ การทำออกมาให้ได้ดีกว่าของเดิมนั้นแฟนๆเองก็จะ “โอ้!” ไปด้วย เพลงต้นฉบับเป็นเพลงร็อกที่เร็วสุดๆ ผมเลยว่าถ้าทำให้เป็นเพลงจังหวะช้าหน่อย แล้วก็ใส่ความเป็นคาเฟ่ชิคๆเข้าไปด้วยจะเป็นอย่างไร คือเปลี่ยนไปจากผลงานก่อนหน้านี้ที่ทำเป็นเปียโนอะเรนจ์ แล้วก็ท้าทายว่าจะเปลี่ยนไปได้ถึงขนาดไหน คือโดยส่วนตัวผมชอบเพลงของ JimiisamuP ซังอยู่แล้วก็เลยเลือกมาจากตรงนั้นครับ


――จะว่าไป มีผลงานของ JimiisamuP ซังเพลงไหนที่ชอบบ้าง?

   “Reboot” ผมก็ชอบ แล้วก็ชอบ “from Y to Y” ที่สุดครับ คือชอบเนื้อเพลงมากเป็นพิเศษเลยมักจะเอามาโคฟเวอร์ครับ



มีภาพที่ยื่นปลายจมูกออกไปด้วย (หัวเราะ)

――ปกอัลบั้มที่ถ่ายในรอบนี้ออกแบบได้น่าสนใจมาก ได้ถ่ายกับคุณอาโอยาม่าแล้วเป็นอย่างไรบ้าง?

   นี่เป็นครั้งที่ 3 ที่ได้พบกัน ก็เลยถ่ายได้แบบค่อนข้างสบายใจน่ะครับ ตัวอาโอยาม่าซังเองก็มักพูดอยู่เสมอในตอนที่บรรยายว่า “พอร์ตเทรตนั้น การสื่อสารกับตัวแบบเป็นสิ่งสำคัญ” ดังนั้นก็เลยถ่ายไปคุยไปน่ะครับ แบบประมาณว่าถ่ายไปก็สัมภาษณ์ไปว่า “ความทรงจำสมัยเรียนคืออะไร?” แล้วก็ตัดเอาช่วงเวลาอย่างสีหน้าที่ได้เห็นในเสี้ยววินาทีออกมาได้เก่งครับ

   แล้วก็ ภาพปกเนี่ยต้องถ่ายโพสต์ซ้ำกันเป็นสิบๆภาพใช่ไหมครับ? คืออาโอยาม่าซังเนี่ยเป็นคนรวดเร็วประมาณว่า พอบอกว่า “เอาล่ะ หันมาทางนี้” แล้วก็กดชัตเตอร์รัวๆ จากนั้นก็ “โอเค ต่อไปทางนี้”  ก็เลยไม่มีพวกมอนิเตอร์เช็คน่ะครับ ดังนั้นจึงไม่รู้สักนิดเลยว่างานจะออกมาเป็นแบบไหนจนกว่าภาพจะขึ้นมาบนหน้าจอ แต่ว่าพอได้เห็นงานที่ออกมาแล้วก็คิดว่าอาโอยาม่าซังเนี่ยผสานมุมมองและสีหน้าให้เข้ากันได้เก่งครับ


――ภาพปกอัลบั้ม “SEVENTEEN O’CLOCK” ปก B ล็อตแรกนี่มีภาพที่ koma’n ซังกำลังกระโดดอยู่ด้วยนี่นะ

   กระโดดครับ ก็พูดว่า “เอาล่ะนะ!!” แล้วก็ถ่ายไปหลายรอบครับ


――แล้วตอนที่กระโดดนี่ไม่ลำบากหรือ?

   ไม่ครับ เพราะกระโดดได้ท่ามกลางผู้คนมากมายเลยไม่เป็นไร (หัวเราะ) แล้วก็มีรูปที่ถ่ายกับสาวมัธยมปลายด้วย เลยตื่นเต้นแล้วก็ใจเต้นตึกตักครับ


――ในการถ่ายทำนั้นได้จับคู่กับสาวมัธยมปลายลักษณะไหน?

   เข้าไปกระโดดเชือกเส้นเดียวกันแล้วก็ถ่ายด้วยกัน โดนใช้นิ้วจิ้มแก้ม ใส่หูฟังกันคนละข้าง แล้วก็ทำท่าเหมือนลังเลว่าจะจับมือหรือไม่จับดีประมาณนั้นครับ คือตื่นเต้นแล้วก็เขินผสมกันตลอดเลยมีภาพที่ยื่นปลายจมูกออกไปด้วย (หัวเราะ) บุ้คเล็ทมีแค่ 32 หน้า แต่ยังมีภาพอีกเยอะแยะเลยครับ คือถ่ายมาในปริมาณที่ทำโฟโต้บุ้คได้เลย คิดว่าสักวันคงมีโอกาสเอาออกมาโชว์ครับ

――ผลงานในครั้งนี้ สำหรับ koma’n ซังแล้ว เป็นผลงานอย่างไร?

   ตัวชื่อของผลงานในครั้งนี้เองก็มีความหมายถึง 17 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน ไม่ใช่ช่วงค่ำและไม่ใช่ช่วงกลางวัน และความหมายถึงอายุ 17 ปีครับ ก็เลยอะเรนจ์ในแบบเก่าๆหน่อย ทั้งนักเรียนที่มีช่วงวัยรุ่นเช่นนั้น และเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้ฟังแล้วรู้สึกหวนคิดถึงอดีตครับ  “Tsumasaki Shoujo” นั้น ทั้งเด็กวัยรุ่นและวัยที่อ่านการ์ตูนผู้หญิงในรุ่นเดียวกันก็เพลิดเพลินได้ ในครั้งนี้ก็ได้ใส่ส่วนผสมที่จะทำให้คนหลากหลายเพลิดเพลินไปด้วยได้ อย่างเช่นการอะเรนจ์ก็เหมือนเพลงป็อปไอดอล เพลงป๊อปแบบเก่าในยุคโชวะครับ

   ตอนอัลบั้มแรกนั้นยังทำเพลงแบบโชว์พาวน่ะครับ เรียกว่าเป็นความเป็นวัยรุ่นล่ะมั้ง พูดในแง่ดีคือทำเพลงออกมาแบบมีจุดที่ขัดแย้งกันอยู่ แต่ในครั้งนี้ผ่านมาแล้ว 2 ปีจากตรงนั้น พูดในแง่ดีคือเป็นผู้ใหญ่แล้วครับ ตัวเพลงเองก็สามารถลบในส่วนนั้นออกไปได้แล้ว ถ้าพูดแบบแย่ๆคือมันเรียบเกินไป แต่เพลงก็ค่อยๆเป็นคุณลุงมากขึ้นล่ะนะ (หัวเราะ) ถ้าจะเปรียบกับเหล้าก็เหมือนกับ hiyaoroshi นั่นแหละครับ หลังจากฤดูร้อนก็เก็บไว้ในถังไม้ รสชาติก็นุ่มนวลขึ้น ซึ่งผมก็ทำด้วยอิมเมจแบบนั้น


――สุดท้ายนี้ ช่วยบอกเป้าหมายในปีหน้าหน่อย

   อย่างแรก จะไม่ดื่มมากเกินจนร่างกายพังครับ (หัวเราะ) แล้วก็ครั้งนี้ได้ทำงานร่วมกันกับคนอื่น ก็เลยมีส่วนที่สมบูรณ์ขึ้นมากกว่าในโลกที่ทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งการเขียนเนื้อร้อง แต่งทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสานครับ เพราะได้ขยายออกไปมากขึ้นและหลายๆอย่างเสร็จสมบูรณ์ออกมาให้เห็นได้จากการได้ร่วมงานกันในครั้งนี้ ผมได้สนิทกับคนหลากหลายและทำเพลง ได้พบกับคนใหม่ๆและได้พบกับดนตรีใหม่ๆ ผมอยากจะพยายามเขียนเพลงดีๆและให้ความสำคัญกับการพบกับดนตรีเช่นนั้นเอาไว้ครับ



Post a Comment

0 Comments